RSS

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อาหารอิสาน

กันมาบ้างแล้ว ชาวอีสานมีวถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายเช่นเดียวกับการที่รับประทานอาหารอย่างง่ายๆ มักจะรับประทานได้ทุกอย่าง เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของภาคอีสาน ชาวอีสานจึงรู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆที่สามารถรับประทานได้ในท้องถิ่น มาดัดแปลงเป็นอาหารรับประทานอาหารอีสานเป็นอาหารที่มีความแตกต่างจากอาหารของภาคอื่นๆ และเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของชาวอีสาน อาหารของชาวอีสานในแต่ละมื้อจะเป็นอาหารง่ายๆเพียง 2-3 จาน ซึ่งทุกมื้อจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบหลักพวกเนื้อส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อปลาหรือเนื้อวัวเนื้อควาย
ความพึงพอใจในรสชาติอาหารของชาวอีสานนั้นไม่มีตายตัวแล้วแต่ความชอบของบุคคล แต่อาหารพื้นบ้านอีสานส่วนใหญ่แล้วจะออกรสชาติไปทางเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว
เครื่องปรุงอาหารอีสานที่สำคัญและแทบขาดไม่ได้เลย คือ ปลาร้า ซึ่งที่เกิดจากภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหารของบรรพบุรุษของชาวอีสาน ถ้าจะกล่าวว่าชาวอีสานทุกครัวเรือนต้องมีปลาร้าไว้ประจำครัวก็คงไม่ผิดนัก ปลาร้าใช้เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารได้ทุกประเภท เหมือนกับที่ชาวไทยภาคกลางใช้น้ำปลา

ลักษณะการปรุงอาหารพื้นเมืองอีสาน
ลาบ เป็นอาหารประเภทยำที่มีเนื้อมาสับละเอียดหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆบางๆปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าพริก ข้าวคั่ว ต้นหอม ผักชี รับประทานกับผักพื้นเมืองนิยมใช้กับเนื้อปลาหมูวัวควายและไก่
ก้อย เป็นอาหารประเภทยำที่จะนำเนื้อย่างมาหั่นเป็นชิ้นๆผสมกับผักพื้นเมืองนิยมใช้กับเนื้อปลาหมูวัวควายและไก่ ทานกับผักสดนานาชนิด
ส่า เป็นอาหารประเภทยำ ที่นำหนังหมู เนื้อหมูย่างสับมาผสมกับหัวปลีวุ้นเส้น
แซ หรือ แซ่เป็นอาหารประเภทยำที่นำเนื้อสดๆมาปรุงนิยมใช้กับเนื้อวัวและหมู คล้ายๆลาบแต่มักใส่เลือดสดๆด้วย กินกับผักสดตามชอบ คนโบราณนิยมกินเพราะเชื่อว่าเป็นยาชูกำลัง ปัจจุบันได้รับความนิยมเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล
อ่อม เป็นอาหารประเภทแกงแต่มีน้ำน้อยมีผัก พื้นเมืองหลายชนิดนิยมใช้กับเนื้อไก่และปลาหรือเนื้อกบเนื้อเขียดหรือเนื้อสัตว์อื่นๆแต่เน้นที่ปริมาณผัก
อ๋อลักษณะคล้ายอ่อมแต่ไม่ใส่ผัก(ใส่เพียงต้นหอม ใบมะกรูด ตะไคร้ ใบแมงลัก)นิยมใช้ปลาตัวเล็ก กุ้ง หรือไข่มดแดงปรุง ใส่น้ำพอให้อาหารสุก
หมกเป็นอาหารประเภทหนึ่งที่ใช้ใบตองห่อนิยม ใช้กับเนื้อปลา ไก่ แมลง กบ เขียด ผักและหน่อไม้ หมกหรือห่อหมกของภาคอีสานจะไม่ใส่กะทิ
อู๋ คล้ายหมกแต่ไม่ใช้ใบตอง นิยมใช้กับเนื้อปลาโดยเฉพาะปลาตัวเล็กๆ กับพวกลูกอ๊อดกบ
หม่ำคือไส้กรอกเนื้อวัวผสมตับ ตะไคร้และเครื่องเทศอื่นๆ
หม่ำขึ้ปลามีลักษณะคล้ายปลาร้าชนิดหนึ่งรสชาติค่อนข้างเปรี้ยวหมักกับข้าวเหนียว
แจ่ว คือ น้ำพริกของชาวอีสานนิยมใส่ปลาร้าสับหรือน้ำปลาร้า บางครั้งใส่มะกอกพื้นบ้านก็เป็นแจ่วมะกอก รับประทานกับผักสด ลวก หรือนึ่งเป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันทุกบ้านในภาคอีสาน เพราะมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก
ตำซั่ว เป็นอาหารประเภทส้มตำชนิดหนึ่ง แต่ใส่ส่วนประกอบมากกว่า คือ ใส่ขนมจีน ผักดอง ผัก(เหมือนที่ใส่ขนมจีน)และมะเขือลาย หรือผักอื่นๆตามต้องการลงไปในตำมะละกอด้วยผักอื่นๆ




ก้อยไข่มดแดง

ส่วนผสม

ไข่มดแดง 300 กรัม

หัวหอมซอย 7 - 8 หัว

น้ำปลาร้า 2 ช้อนโต๊ะ

น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ

น้ำมะนาว 1 ช้อนชา

พริกแห้งป่น 1.5 ช้อนโต๊ะ

ข้าวคั่วป่น2 ช้อนโต๊ะ

ต้นหอมหั่นฝอย 3 ช้อนโต๊ะ

ใบสะระแหน่ 5 - 6 ต้น (เด็ดเป็นใบ)

วิธีทำ

นำไข่มดแดงล้างให้สะอาดใส่กระชอน พักให้สะเด็ดน้ำ ใส่อ่างผสม

นำเครื่องปรุงทั้งหมดใส่คลุกเคล้าให้เข้ากัน

ใส่พริกแห้งป่น ข้าวคั่วป่น หัวหอมซอย ต้นหอมหั่นฝอยชิมรส ตักใส่จานโรยหน้าด้วย ใบสะระแหน่และพริกชี้ฟ้าสด

ผักเครื่องเคียง
ผักที่นิยมรับประทานเป็นเครื่องเคียงได้แก่ ผักกะโดน เม็ก ติ้ว หนอก (บัวบก) มะเขือถั่วฝักยาว แตงกวา และอื่น ๆ
หมายเหตุ
ส่วนผสมอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม



แจ่วบอง

แจ่วหรือ น้ำพริก เป็นอาหารที่ชาวอีสานนิยมรับประทานกัน เพราะทำได้ง่ายมีเครื่องปรุงไม่มากนัก แค่มีพริกและปลาร้าในครัวก็สามารถทำแจ่วได้แล้ว ด้วยความที่ทำได้ง่ายจึงจะพบว่าอาหารของชาวอีสานเกือบทุกมื้อจะต้องมีแจ่วเป็นอาหารหลักๆน่นอน ชาวอีสานนิยมรับประทานแจ่วกับผักที่เก็บได้จากรั้วบ้าน หรือกับพวกเนื้อย่าง ปลาย่าง หรือนึ่ง ปัจจุบันถึงแม้วิถีชีวิตของชาวอีสานจะเปลี่ยนไปแต่อาหารต่างโดยเฉาะแจ่วไม่ได้เสื่อมความนิยมลงไปเลย เพราะเหตุนี้เราจึงหาทานแจ่วแบบอีสานได้ทั่วๆไป

เครื่องปรุง

- รากผักชี

- ตะไคร้เผาพอหอม

- ปลาร้าสับละเอียด

- น้ำมันพืช(ไม่ใช้ก็ได้-ใช้น้ำเปล่าแทนได้)

- น้ำมะขามเปียก-ข้น

- ข่าเผาซอย

- พริกป่น

- ปลาป่น

- น้ำปลา

- น้ำตาลทราย

- ผักสดตามชอบ



วิธีทำ
1.โขลกรากผักชีตะไคร้ ข่าให้ละเอียดใส่กระเทียม หอม โขลกต่อให้ละเอียดใส่พริกป่นปลาร้าโขลกต่อให้เข้ากัน
2. ตั้งกระทะไฟอ่อนใส่น้ำมันพร้อมใส่ส่วนผสมผัดใส่น้ำปลาร้าน้ำ มะขามเปียกน้ำตาลผัดจนหอมจึงตักขึ้นรับประทานกับผักสดผักนึ่งถ้าไม่ชอบปลาร้าใส่น้ำปลาก็ได้





ตำมะละกอ(ส้มตำ)

แกงหน่อไม้ ส้มตำ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง ของกินชนิดหนึ่ง เอาผลไม้มีมะละกอเป็นต้น มาตำผสมกับเครื่องปรุงมีรสเปรี้ยวบางท้องถิ่นเรียก ตำส้ม

ส้มตำ เป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย(อาจจะรวบถึงชาวต่างชาติอีกมากมายที่รู้จักประเทศไทยจากส้มตำ)ในทุกๆภาคในปัจุบันโดยเฉพาะคนอีสานพบได้ทุกสถานที่โดยเฉพาะตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ทะเล ภูเขา น้ำตก ฯลฯจะพบอาหารนี้ได้ทุกซอก ทุกมุม ซึ่งหารับประทานได้ง่ายตามสถานที่ทั่วไปแม้แต่ตามซอกซอย ตามภัตตาคารหรือตามห้างต่างๆ เรียกว่าส้มตำเป็นอาหารจานโปรดของทุกคนเลยก็ได้ ทำเอาพ่อค้าแม่ขายอาชีพนี้รวยไปตามๆ กันส้มตำมีหลายประเภท ได้แก่ ส้มตำไทย, ส้มตำไทยใส่ปู, ส้มตำปูใส่ปลาร้า, ส้มตำลาวใส่มะกอก ส้มตำมักรับประทานกับข้าวเหนียว และแกล้มกับผักชนิดต่างๆและที่ขาดไม่ค่อยได้เลยคือไก่ย่าง ซึ่งจะพบว่าร้านส้มตำเกือบทุกร้านจะต้องขายไก่ย่างควบคู่กันไปด้วย

ส้มตำ เป็นภาษากลางที่ใช้เรียกกันทั่วไป ชาวอีสานเรียก ตำบักหุ่งหรือตำส้ม ส้มตำของชาวอีสานมีความหลากหลายมาก พืชผัก ผลไม้ ชนิดต่างๆก็สามารถนำมาตำรับประทานได้ทั้งสิ้น เช่น ตำ

มะละกอ ตำถั่วฝักยาว ตำกล้วยดิบตำหัวปลี ตำมะยม ตำลูกยอ ตำแตง ตำสับปะรด ตำมะขาม ตำมะม่วง เป็นต้นซึ่งจะมีรสชาติที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเภท แต่โดยรวมๆแล้วจะเน้นที่ความมีรสจัดจ้านถึงใจและเน้นที่ความเปรี้ยวนำ

ล้มตำลาวของชาวอีสานบางครั้งจะใส่ผลมะกอกพื้นบ้าน(เฉพาะฤดูที่มีผลมะกอกพื้นบ้าน)เข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มรสชาติ โดยฝานเป็นชิ้นรวมกับส้มตำมะละกอช่วยให้รสชาติอร่อยขึ้น ส้มตำลาวเป็นเมนูอาหารหลักของชาวอีสานรองจากข้าวเหนียว สามารถรับประทานกันได้ทุกวันและทุกมื้อ วัฒนธรรมการกินอาหารอย่างหนึ่งของชาวอีสานคือหากมื้อใดมีการทำส้มตำรับประทานก็มักจะเรียกเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมสังสรรค์รับประทานส้มตำด้วย บางคนถึงกับบอกว่า ทานคนเดียวไม่อร่อย ต้องทานหลายๆ คนหรือแย่งกันทาน เรียกว่าส้มตำรวยเพื่อนก็ไม่ผิดนัก และตามงานบุญต่างๆของชาวอีสานจะขาดส้มตำไม่ได้เลย ถ้าขาดส้มตำอาจจะทำให้งานนั้นกร่อยเลยทีเดียว

บางคนครั้งส้มตำลาวจะอร่อยหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับปลาร้าเป็นสำคัญถ้าหากปลาร้าอร่อยมีรสชาติดี ก็จะทำให้ส้มตำลาวครกนั้นมีรสชาติอร่อยไปด้วยปลาร้าที่ใส่ส้มตำสามารถใส่ได้ทั้งน้ำและตัวปลาร้า หรือบางคนก็ใส่แต่น้ำปลาร้าใส่เพื่อพอให้มีกลิ่นแล้วแต่คนชอบแต่ต้องทำให้สุกเสียก่อนชาวอีสานส่วนใหญ่ยังมีความคิดว่ากินปลาร้าดิบแซ่บกว่าปลาร้าสุก ดังนั้นชาวบ้านตามชนบทมักจะใช้ปลาร้าดิบเป็นส่วนประกอบในส้มตำด้วยความคิดเช่นนี้จึงทำให้กลายคนดินปลาร้าแล้วได้พยาธิ(ส่วนใหญ่จะเป็นพยาธิใบไม้ในตับ)ิแถมเข้ามาอยู่ในตัวด้วย ถึงแม้ว่าการใช้เกลือประมาณร้อยละ 30 ของน้ำหมักปลาในการหมักก็เป็นเพียงการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้เท่านั้นแต่ยังไม่มีคำยืนยันจากนักวิชาการว่าเกลือสามารถฆ่าพยาธิได้ ดังนั้นควรใช้ปลาร้าที่ต้มสุกแล้วจะปลอดภัยกว่า

นอกจากนี้จากผลการวิจัยขอคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลยังพบว่าในปลาร้าดิบมีสารที่ยับยั้งการทำงานของวิตามินบีหนึ่งซึ่งการที่จะทำให้สารชนิดนี้หมดไปได้มีวิธีเดียวเท่านั้น คือการทำให้สุกโดยใช้ความร้อน




เครื่องปรุง

มะละกอสับตามยาว =1 ถ้วย (100 กรัม)

มะเขือเทศสีดา= 3 ลูก (30 กรัม)

มะกอกสุก= 1 ลูก (5 กรัม)

พริกชี้หนูสด= 10 เม็ด (15 กรัม)

กระเทียม= 10 กลีบ (30 กรัม)

น้ำมะนาว= 1-2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม)

น้ำปลา= ½ ช้อนโต๊ะ (8 กรัม)

น้ำปลาร้าต้มสุก= 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)

ผักสด ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ยอดปักบุ้ง ยอดและฝักกระถิน ยอดมะยม ไก่ย่าง แคบหมู

วิธีทำ

1. โขลกกระเทียม พริกขี้หนู พอแตก
2. ใส่มะละกอมะเขือเทศผ่าซีก ฝานมะกอกเป็นชิ้นบางใส่ลงโขลกเข้าด้วยกัน
3. ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำปลาร้า น้ำมะนาว โขลกเบาๆ พอเข้ากันชิมตามชอบรับประทานกับผักสด

สรรพคุณทางยา

1. มะละกอ ผลดิบ ต้มกินเป็นบาบำรุงน้ำนม ขับพยาธิ แก้บิดแก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ริดสีดวงทวาร ช่วยย่อยอาหาร ขับน้ำดี น้ำเหลือง
2. มะเขือเทศ รสเปรี้ยว เป็นผักที่ใช้แต่งสีและกลิ่นอาหาร ช่วยระบาย บำรุงผิว
3. มะกอก รสเปรี้ยว ฝาด หวาน แก้โรคธาตุพิการเพราะน้ำดีไม่ปกติ แก้บิดแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน ผลสุกทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ
4. พริกขี้หนูรสเผ็ดร้อน ช่วยเจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อย
5. กระเทียม รสเผ็ดร้อนขับลมในลำไส้ แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคผิวหนังน้ำมันกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา แบคทีเรียและไวรัส ลดน้ำตาลในเลือดลดไขมันในหลอดเลือด
6. มะนาว เปลือกผลรสขม ช่วยขับลมน้ำในลูกรสเปรี้ยวแก้เสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิต
7. ผักแกล้มต่างๆได้แก่
- ถั่วฝักยาว รสมันหวาน ช่วยกระตุ้นการทำงานของกะเพาะลำไส้บำรุงธาตุดิน
- กะหล่ำปลี รสจืดเย็น กระตุ้นการทำงานของกระเพาะลำไส้บำรุงธาตุไฟ
- ผักบุ้ง รสจืดเย็น ต้มกินใช้เป็นยาระบาย ทำให้อาเจียนเนื่องจากพิษของฝิ่นและสารหนู
- กระถิน รสมัน แก้ท้องร่วง สมานแผลห้ามเลือด ถ่ายพยาธิ
- มะยม ใบต้มกิน เป็นยาแก้ไอ ช่วยดับพิษไข้บำรุงประสาท ขับเสมหะ บำรุงอาหาร แก้พิษอีสุกอีใส โรคหัดเลือด

รสและสรรพคุณ
1. มะละกอดิบ (ผลยาว) มีรสหวานปลูกได้ทั่วไปในทุกภาค ออกผลตลอดปี ในทางยา
- ต้นมะละกอ สรรพคุณแก้มุตกิต ขับระดูขาว
- ดอกมะละกอ สรรพคุณ ขับประจำเดือนลดไข้
- ราก รสขมเอียน สรรพคุณ ขับปัสสาวะ
- เม็ดอ่อนสรรพคุณแก้กลากเกลื้อน
- ยางมะละกอ สรรพคุณช่วยกัดแผลรักษาตาปลาและหูดฆ่าพยาธิหลายชนอด ในการทำอาหาร ยอดอ่อนนำมาดองและรับประทานเป็นผักได้ส่วนผลดิบปรุงเป็นอาหารหลายชนิด ผลมะละกอดิบหั่นเป็นชิ้นนึ่งหรือต้มให้สุกและรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรืออาจปรุงเป็นผัดมะละกอโดยนำผลห่ามหั่นฝอยเป็นชิ้นยาวๆ ผัดกับไข่และหมูได้นอกจากนี้เนื้อมะละกอยังนำมาปรุงเป็นแกงส้ม แกงอ่อมได้
2. มะกอกเมื่อรับประทานทีแรกมีรสเปรี้ยวอมฝาด แต่เมื่อถึงคอแล้วหวานชุ่มคออุดมด้วยวิตามินซีใช้เป็นยาฝาดสมาน และแก้โรคลักปิดลักเปิด เปลือกมีกลิ่นหอมฝาดสมานและเป็นยาเย็นใช้แก้อาการท้องเสีย และโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ ระงับอาเจียนยอดอ่อน ใบอ่อนและผลสุกใช้รับประทานเป็นผักยอดอ่อนและใบอ่อนออกมากในฤดูฝนและออกเรื่อยๆ ตลอดปี ส่วนผลเริ่มออกในฤดูหนาวผลสุกรสเปรี้ยว เย็น ฝาด ทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ แก้เลือดออกตามไรฟัน
ในด้านการนำมาทำอาหาร คนไทยทุกภาครู้จักและรับประทานยอดมะกอกเป็นผักสดในภาคกลางรับประทานยอดอ่อน ใบอ่อน ร่วมกับน้ำพริกปลาร้า เต้าเจี้ยวหลนชาวอีสารรับประทานร่วมกับลาบก้อย แจ่วป่นและฝานผลเป็นชิ้นรวมกับส้มตำมะละกอหรือพล่ากุ้งช่วยให้รสชาติอร่อยขึ้น

รสชาติอาหาร

ส้มตำ 1ครก จะมีหลายรสชาติ เช่น เปรี้ยว มัน เค็ม หวาน (น้ำตาลแล้วแต่คนชอบ) ขม เปลือกมะนาวหรือผลมะกอก) อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่ให้คุณค่าแก่ร่างกายสูง โดยเฉพาะเมื่อนำมาแกล้มกินกับผักคนอีสานนิยมรับประทานกับเส้นขนมจีน ว่ากันว่ารับประทานเข้ากันดีนักสำหรับคนภาคกลางมักจะรับประทานร่วมกับอาหารอื่นๆ เช่น ส้มตำ-ไก่ย่าง, ลาบ, น้ำตก, ข้าวเหนียว เรียกว่าเป็นเมนูชุดใหญ่ โดยมีส้มตำเป็นอาหารหลักเลยทีเดียวซึ่งก็จะช่วยให้เราได้สารอาหารประเภทโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพิ่มไปด้วยนอกเหนือจากการกินแต่ผักอย่างเดียว

คุณค่าทางโภชนาการ

ส้มตำลาวใส่มะละกอ 1 ชุดให้พลังงานต่อร่างกาย 205 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย
- น้ำ=417.77 กรัม
- โปรตีน= 17 กรัม
- ไขมัน= 2.856 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต= 29 กรัม
- กาก= 5.75 กรัม
- ใยอาหาร= 2.67 กรัม
- แคลเซียม= 163.4 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส= 190.36 มิลลิกรัม
- เหล็ก= 24.27 มิลลิกรัม
- เบต้าแคโรทีน=473.9 ไมโครกรัม
- วิตามินเอ= 12243 IU
- วิตามินบีหนึ่ง=0.552 มิลลิกรัม
- วิตามินบีสอง= 0.5 มิลลิกรัม
- ไนอาซิน=5.545 มิลลิกรัม
- วิตามินซี= 162 มิลลิกรัม




น้ำตก
เครื่องปรุง
เนื้อติดมัน=200 กรัม
ข้าวคั่ว= 1 ช้อนโต๊ะ
พริกป่น= 1/2 ช้อนชา
หอมแดงซอย=1 ช้อนโต๊ะ
ใบสะระแหน่=1/2 ถ้วย
น้ำมะนาว= 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา= 2 ช้อนชา
ซีอิ้วขาว= 2 ช้อนโต๊ะ
ผักสด ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี

วิธีทำ
1. ล้างเนื้อแล่หนาประมาณ 1เซนติเมตร เคล้ากับซีอิ้วขาว หมักไว้ประมาณ 1ชั่วโมง
2. ย่างเนื้อบนเตาถ่านใช้ไฟแรง เนื้อจะสุกด้านนอก พลิกไปมาทั้ง 2 ข้างพอน้ำตกส่งกลิ่นหอม ยกลง
3. หั่นเนื้อแฉลบ เป็นชิ้นพอคำ เคล้ากับน้ำปลาน้ำมะนาว ใส่พริกป่น ข้าวคั่ว หอมแดง โรยใบสะระแหน่ รับประทานกับผักบุ้ง ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี



ปลาร้าบอง

เครื่องปรุง

ปลาร้าปลาช่อนหรือปลาร้าปลาดุกตัวโต, ตะไคร้ ข่า พริกขี้หนู กระเทียมหอมแดง ใบมะกรูด ผักชี สะระแหน่

วิธีการปรุง

ล้างเครื่องปรุงทุกอย่างให้สะอาด สับปลาร้าให้ละเอียด หั่นพริกขี้หนูตะไคร่ ข่า หอมแดง ใบมะกรูด นำปลาร้าสับและเครื่องหอมดังกล่าวมาโขลกรวมกันเติมรสเปรี้ยวด้วยมะนาว โรยด้วยผักชีและสะระแหน่ รับประทานกับข้าวเหนียวร้อนๆ

ผัก/เครื่องเคียง

ผักสดหรือผักนึ่ง เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ แตงกวา ยอดฟักทองยอดตำลึง ดอกแค ยอดแคลวก จะทำให้ได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่ามากครบหมู่

คุณค่าทางอาหาร

ปลาร้าบองให้คุณค่าทางอาหาร ได้แก่ โปรตีน ไขมันเกลือแร่จากเนื้อปลาร้า ส่วนเครื่องปรุงอื่นที่เป็นสิ่งเพิ่มกลิ่น รสก็ให้สรรพคุณทางด้านสมุนไพร เป็นอาหารบำรุงสุขภาพดังนี้

พริกขี้หนู :บำรุงธาตุ ขับลม กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตให้รสเผ็ด

ข่า :ป้องกันมะเร็ง ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง แก้บิด แก้คลื่นเหียน อาเจียนให้รสเผ็ด

หอมแดง :แก้หวัด คัดจมูก แก้โรคตา ให้รสหวานจืด

น้ำมะนาว :แก้เสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ให้รสเปรี้ยว

กระเทียม :ฆ่าเชื้อในปาก แก้ไอขับเสมหะ ช่วยระบายไขมันในเลือด ให้รสเผ็ด








ที่มา
www.hitory48.exteen.com

อาชีพ



ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภูมิภาคนี้มีลักษณะโดดเด่นกว่าส่วนอื่นของประเทศประกอบด้วยจังหวัด 19 จังหวัดคือหนองคาย นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ สกลนคร อุดรธานี เลย ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อุดรธานี หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ นับได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่และประชากรมากที่สุดนอกจากนั้นยังเป็นภูมิภาคที่มีปัญหาในด้านต่าง ๆ มากที่สุด เช่น ปัญหาความแห้งแล้งความยากจน ประชากรอพยพย้ายถิ่น ประชากรในภาคนี้พูดภาษาไทยสำเนียงอีสานแตกต่างไปจากสำเนียงท้องถิ่นในภาคเหนือแต่ประชากรส่วนใหญ่สามารถพูดสำเนียงไทยภาคกลางได้ประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ของตนคือหญิงมักจะนุ่งผ้าซิ่นทอด้วยฝ้ายมีเชิงคลุมเลยเข่าไปเล็กน้อย สวมเสื้อแขนสั้น ผู้สูงอายุมักตัดผมสั้นไว้จอนส่วนผู้ชายไม่ค่อยมีรูปแบบที่แน่นอนนักแต่มักนุ่งกางเกงมีขาครึ่งน่องหรือนุ่งโสร่งผ้าไหมอย่างไรก็ตามเครื่องแต่งกายดังกล่าวจะพบน้อยลง ในปัจจุบันประชากรวัยหนุ่มสาวจะแต่งกายตามสมัยนิยมอย่างที่พบเห็นในที่อื่น ๆ ของประเทศ






อาชีพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือการเพาะปลูก พืชที่สำคัญคือ ข้าว มันสำปะหลัง ปอข้าวโพด ภาคนี้มีพื้นที่ทำนามากกว่าภาคอื่น ๆ แต่ผลิตผลที่ได้ต่ำเพราะการทำนาส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนซึ่งไม่ค่อยแน่นอน บางปีมีน้ำมาก บางปีไม่มีน้ำเลยภาคนี้พอถึงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำลำธารจะเหือดแห้งไปเสียส่วนใหญ่ถึงฤดูฝนประชาชนก็ไม่ได้เตรียมการเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ให้เป็นที่แพร่หลายกันเว้นแต่เก็บน้ำฝนไว้ดื่มกินเท่านั้นการขาดแคลนน้ำในภาคนี้ทำให้ไม่ค่อยมีการปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วทำให้ผลผลิตมีน้อย เป็นเหตุให้ประชากรในภูมิภาคนี้มีความยากจนเป็นส่วนมากปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรทำให้เกิดโครงการน้ำพระทัยจากในหลวงหรือที่รู้จักกันในนาม โครงการอีสานเขียวความมุ่งหมายของโครงการนี้เพื่อหวังจะยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดีขึ้นโดยการหาและสร้างแหล่งน้ำ ปรับปรุงวิธีการประกอบอาชีพ ปรับปรุงด้านสุขภาพอนามัยสิ่งสำคัญที่ควรจะพิจารณาคือพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่งไม่เหมาะสำหรับปลูกข้าวเพราะข้าวต้องการน้ำมาก แต่เหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงวัวแต่การเลี้ยงวัวเลี้ยงควายโดยการปลูกหญ้าให้เป็นอาหารสัตว์นั้นยังทำกันไม่ค่อยแพร่หลายในภาคนี้การเลี้ยงสัตว์จึงไม่ค่อยได้ผล สำหรับงานฝีมือ เช่นการทอผ้าไหมและการจักสานในภาคนี้ทำกันได้ดีมีฝีมือประณีตแต่การทำในลักษณะที่เป็นกิจการใหญ่โตทำครั้งละมาก ๆเพื่อการค้ายังไม่เป็นที่นิยมกันในหมู่ประชาชน





เนื่องจากความขัดสนในพื้นที่ผู้คนในภาคนี้จึงได้ดิ้นรนไปหางานทำกันในภาคอื่นส่วนมากไปในลักษณะการบุกเบิกหาที่ทำกินใหม่ เรียกว่า " หานาดี "ในภายหลังการหานาดีก็ทำได้ยาก เพราะไม่มีพื้นที่จะให้บุกเบิกใหม่ส่วนใหญ่จึงไปทำงานรับจ้างในที่ต่าง ๆ และไปกันถึงต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์บรูไน และในประเทศเขตทะเลทรายตะวันออกกลางปัญหาของภูมิภาคนี้คือการหาหนทางปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาค สร้างอาชีพใหม่ ๆให้เข้ากับสภาพทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์และตั้งโรงงานที่รองรับผลิตผลเหล่านี้จะสามารถแก้ปัญหาในภูมิภาคนี้ได้มาก





ที่มา
www.history48.exteen.com

ภาษาของคนอิสาน

ภ ภาษาพูดของคนอีสานในแต่ละท้องถิ่นนั้นจะมีสำเนียงที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีอาณาเขตติดต่อกับถิ่นใดรวมทั้งบรรพบุรุษของท้องถิ่นนั้นๆด้วย เช่น แถบจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มีชายแดนติด กับเขมรสำเนียงและรากเหง้าของภาษาก็จะมีคำของภาษาเขมรปะปนอยู่ด้วย ทางด้านจังหวัด สกลนครนครพนม มุกดาหาร หนองคาย เลยที่ติดกับประเทศลาวและมีชาวเวียดนามเข้ามาอาศัยอยู่ค่อนข้างมากก็จะมีอีกสำเนียงหนึ่งชนเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นๆก็จะมีสำเนียงที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองและยังคงรักษาเอกลักษณ์นั้นไว้ตราบจนปัจจุบัน เช่น ชาวภูไท ในจังหวัดมุกดาหารและนครพนม

ถึงแม้ชาวอีสานจะมีภาษาพูดที่มีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นแต่ในภาษาอีสานก็มีสิ่งหนึ่งที่ยังคงมีความคล้ายกันก็คือลักษณะของคำและความหมายต่างๆ ที่ยัง คงสื่อความถึงกันได้ทั่วทั้งภาค ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวอีสานต่างท้องถิ่นกันสามารถสื่อสารกันได้เป็นอย่างดีถ้าจะถามว่าภาษาถิ่นแท้จริงของชาวอีสานใช้กันอยู่ที่ใดคงจะตอบไม่ได้ เพราะภาษาที่คนในท้องถิ่นต่างๆใช้กันก็ล้วนเป็นภาษาอีสานทั้งนั้น ถึงแม้จะเป็นภาษาที่มีความแตกต่างกัน แต่ก็มีรากศัพท์ในการสื่อความหมายที่คล้ายคลึงกัน

ในปัจจุบันชาวอีสานตามเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นได้หันมาใช้ภาษาไทยกลางกันมากขึ้น เพราะวัยรุ่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาที่ดีเทียบเท่ากับคนในภาคกลางหรือกรุงเทพมหานครทำให้ภาษาอีสานเริ่มลดความสำคัญลง เช่นเดียวกันกับภาษาพื้นเมืองของภาคอื่นๆ แต่ผู้คนตามชนบทและคนเฒ่าคนแก่ยังใช้ภาษาอีสานกันเป็นภาษาหลักอยู่ ทั้งนี้คนอีสานส่วนใหญ่จะสามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาอีสานของท้องถิ่นตนเองและภาษาไทยกลาง หากท่านเดินทางไปในชนบทของอีสานจะพบการใช้ภาษาถิ่นที่แตกต่างกันไปดังที่กล่าวมาแล้ว แต่คนอีสานเหล่านี้โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาวก็จะสามารถสื่อสารกับท่านเป็นภาษาไทยกลางได้อีกด้วย ทั้งนี้เพราะวัยรุ่นชาวอีสานใหญ่จะเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อก่อนจะไปหางานทำเฉพาะหลังฤดูทำนา แต่ในปัจจุบันวัยรุ่นส่วนใหญ่จะเข้ากรุงเทพฯและทำงานที่นั่นตลอดทั้งปี ชาวอีสานที่ไปต่างถิ่นนอกจากจะหางานทำแล้วก็ยังมีการเผยแพร่วัฒนธรรมรวมทั้งภาษาของตนเองไปในตัว จะเห็นได้จากในปัจจุบันชาวไทยจำนวนมากเริ่มเข้าใจภาษาอีสาน ทั้งจากเพลงลูกทุ่งภาษาอีสานที่ได้รับความนิยมกันทั่วประเทศและจากคนรอบตัวที่เป็นคนอีสาน ทำให้ภาษาอีสานยังคงสามารถสืบสานต่อไปได้อยู่ถึงแม้จะมีคนอีสานบางกลุ่มเลิกใช้






ที่มา
www.history48.exteen.com

การแต่งกายของคนอีสาน







เครื่องแต่งกายสำหรับชุดการฟ้อนภาคอีสาน

ผ้าพื้นเมืองอีสาน

ชาวอีสานถือว่าการทอผ้าเป็นกิจกรรมยามว่างหลังจากฤดูการทำนาหรือว่างจากงานประจำอื่นๆ ใต้ถุนบ้านแต่ละบ้านจะกางหูกทอผ้ากันแทบทุกครัวเรือน โดยผู้หญิงในวัยต่างๆ จะสืบทอดกันมาผ่านการจดจำและปฏิบัติจากวัยเด็ก ทั้งลวดลายสีสัน การย้อมและการทอ ผ้าที่ทอด้วยมือจะนำไปใช้ตัดเย็บทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม หมอน ที่นอน ผ้าห่ม และการทอผ้ายังเป็นการเตรียมผ้าสำหรับการออกเรือนสำหรับหญิงวัยสาว ทั้งการเตรียมสำหรับตนเองและเจ้าบ่าว ทั้งยังเป็นการวัดถึงความเป็นกุลสตรี เป็นแม่เหย้าแม่เรือนของหญิงชาวอีสานอีกด้วย ผ้าที่ทอขึ้นจำแนกออกเป็น 2 ชนิด คือ

ผ้าทอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน จะเป็นผ้าพื้นไม่มีลวดลาย เพราะต้องการความทนทานจึงทอด้วยฝ้ายย้อมสีตามต้องการ
ผ้าทอสำหรับโอกาสพิเศษ เช่น ใช้ในงานบุญประเพณีต่างๆ งานแต่งงาน งานฟ้อนรำ ผ้าที่ทอจึงมักมีลวดลายที่สวยงามวิจิตรพิสดาร มีหลากหลายสีสัน



ประเพณีที่คู่กันมากับการทอผ้าคือการลงข่วง โดยบรรดาสาวๆ ในหมู่บ้านจะพากันมารวมกลุ่มก่อกองไฟ บ้างก็สาวไหม บ้างก็ปั่นฝ้าย กรอฝ้าย ฝ่ายชายก็ถือโอกาสมาเกี้ยวพาราสีและนั่งคุยเป็นเพื่อน บางครั้งก็มีการนำดนตรีพื้นบ้านอย่างพิณ แคน โหวต มาบรรเลงจ่ายผญาโต้ตอบกัน

เนื่องจากอีสานมีชนอยู่หลายกลุ่มวัฒนธรรม การผลิตผ้าพื้นเมืองจึงแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรม






กลุ่มอีสานเหนือ

เป็นกลุ่มชนเชื้อสายลาวที่มีกำเนิดในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และยังมีกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เช่น ข่า ผู้ไท โส้ แสก กระเลิง ย้อ ซึ่งกลุ่มไทยลาวนี้มีความสำคัญบิ่งในการผลิตผ้าพื้นเมืองของอีสาน ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากฝ้ายและไหม แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการนำเอาเส้นใยสังเคราะห์มาทอร่วมด้วย ผ้าที่นิยมทอกัยในแถบอีสานเหนือคือ ผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด และผ้าแพรวา

ผ้ามัดหมี่ เป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองที่ใช้กรรมวิธีในการย้อมสีที่เรียกว่า การมัดย้อม (tie dye) เพื่อทำให้ผ้าที่ทอเกิดเป็นลวดลายสีสันต่างๆ เอกลักษณ์อันโดดเด่นก็อยู่ตรงที่รอยซึมของสีที่วิ่งไปตามบริเวณของลวดลายที่ผูกมัด และการเหลื่อมล้ำในตำแหน่งต่างๆ ของเส้นด้ายเมื่อถูกนำขึ้นกี่ในขณะที่ทอ ลวดลายสีสันอันวิจิตรจะได้มาจากความชำนาญของการผูกมัดและย้อมหลายครั้งในสีที่แตกต่าง ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
การทอผ้ามัดหมี่จะมีแม่ลายพื้นฐาน 7 ลาย คือ หมี่ขอ หมี่โคม หมี่บักจัน หมี่กงน้อย หมี่ดอกแก้ว หมี่ข้อและหมี่ใบไผ่ ซึ่งแม่ลายพื้นฐานเหล่านี้ดัดแปลงมาจากธรรมชาติ เช่น จากลายใบไม้ ดอกไม้ชนิดต่างๆ สัตว์ เป็นต้น ผ้ามัดหมี่ที่มีชื่อเสียงได้แก่ เขตอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น อำเภอบ้านเขวา จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น
ผ้าขิด หมายถึงผ้าที่ทอโดยวิธีใช้ไม้เขี่ยหรือสะกิดซ้อนเส้นยืนขึ้นตามจังหวะที่ต้องการ เว้นแล้วสอดเส้นด้ายพุ่งให้เดินตลอด การเว้นเส้นยืนถี่ห่างไม่เท่ากันจะทำให้เกิดลวดลายต่างๆ ทำนองเดียวกับการทำลวดลายของเครื่องจักสาน จากกรรมวิธีที่ต้องใช้ไม้เก็บนี้จึงเรียกว่า การเก็บขิด มากกว่าที่จะเรียก การทอขิด ผ้าขิดที่นิยมทอกันมีอยู่ 3 ชนิด ตามลักษณะประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก คือ
ผ้าตีนซิ่น เป็นผ้าขิดที่ทอเพื่อใช้ต่อชายด้านล่างของผ้าซิ่น เนื่องจากผ้าทอพื้นเมืองจะมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดผืนผ้า ดังนั้นเวลานุ่งผ้าซิ่นผ้าจะสั้นจึงต่อชายผ้าที่เป็นตีนซิ่นและหัวซิ่นเพื่อให้ยาวพอเหมาะ
ผ้าหัวซิ่น ก็เช่นเดียวกันเป็นผ้าขิดที่ใช้ต่อชายบนของผ้าซิ่น
ผ้าแพรวา มีลักษณะการทอเช่นเดียวกับผ้าจก แพรวา มีความหมายว่า ผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายที่ทอเป็นผืนมีความยาวประมาณวาหนึ่งของผู้ทอ ซึ่งยาวประมาณ 1.5-2 เมตร
ผ้าแพรมน มีลักษณะเช่นเดียวกับแพรวา แต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส นิยมใช้เช่นเดียวกับผ้าเช็ดหน้าและหญิงสาวผู้ไทนิยมใช้โพกผม




ผ้าลายน้ำไหล ผ้าลายน้ำไหลนี้ที่มีชื่อเสียงคือ ซิ่นน่าน (ของภาคเหนือ) มีลักษณะการทอลวดลายเป็นริ้วใหญ่ๆ สลับสีประมาณ 3 หรือ 4 สี แต่ละช่วงอาจคั่นลวดลายให้ดูงดงามยิ่งขึ้น ผ้าลายน้ำไหลของอีสานก็คงจะได้แบบอย่างมาจากทางเหนือ โดยทอเป็นลายขนานกับลำตัว และจะสลับด้วยลายขิดเป็นช่วงๆ
ผ้าโสร่ง เป็นผ้านุ่งสำหรับผู้ชาย ลักษณะของผ้าโสร่งจะทอด้วยไหมหรือฝ้ายมีลวดลายเป็นตาหมากรุกสลับเส้นเล็ก 1 คู่ และตาหมากรุกใหญ่สลับกัน กว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 2 เมตร เย็บต่อกันเป็นผืน


กลุ่มอีสานใต้

คือกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรที่กระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษและบุรีรัมย์ เป็นกลุ่มที่มีการทอผ้าที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะของตนเอง มีสีสันที่แตกต่างจากกลุ่มไทยลาว

ผ้ามัดหมี่ ในกลุ่มอีสานใต้ก็มีการทอเช่นเดียวกันนิยมใช้สีที่ทำเองจากธรรมชาติเพียงไม่กี่สี ทำให้สีของลวดลายไม่เด่นชัดเหมือนกลุ่มไทยลาว แต่ที่เห็นเด่นชัดในกลุ่มนี้คือการทอผ้าแบบอื่นๆ เพื่อการใช้สอยกันมากเช่น
ผ้าหางกระรอก จะมีสีเลื่อมงดงามด้วยการใช้เส้นไหมต่างสีสองเส้นควั่นทบกันทอแทรก
ผ้าปูม เป็นผ้าที่มีลักษณะการมัดหมี่ที่พิเศษเป็นเอกลักษณ์ต่างจากถิ่นอื่น
ผ้าเซียม (ลุยเซียม) ผ้าไหมที่นิยมใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุ
ผ้าขิด การทอผ้าขิดในกลุ่มอีสานใต้มีทั้งการทอด้วยผ้าฝ้ายและผ้าไหม แต่ส่วนมากมักจะใช้ต่อเป็นตีนซิ่นในหมู่คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดี เพราะชาวบ้านทั่วไปไม่นิยมใช้กัน ลักษระการต่อตีนซิ่นของกลุ่มนี้นิยมใช้เชิงต่อจากตัวซิ่นก่อน แล้วจึงใช้ตีนซิ่นต่อจากเชิงอีกทีหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มไทยลาวอย่างเด่นชัด




ลักษณะผ้าพื้นเมืองอีสาน


ลวดลายผ้าพื้นเมืองอีสานทั้งสองกลุ่มนิยมใช้ลายขนานกับตัว ซึ่งต่างจากผ้าซิ่นล้านนาที่นิยมลายขวางตัวและนุ่งยาวกรอมเท้า ในขณะที่ชาวไทยลาวนิยมนุ่งผ้าซิ่นสูงระดับเข่าแต่ไม่สั้นเหมือนผู้หญิงเวียงจันทร์และหลวงพระบาง การต่อหัวซิ่นและตีนซิ่นจะต่อด้วยผ้าชนิดเดียวกัน ส่วนหัวซิ่นนิยมด้วยผ้าไหมชิ้นเดียวทอเก็บขิดเป็นลายโบคว่ำและโบหงายมีสีแดงเป็นพื้น ส่วนการต่อตะเข็บและลักษณะการนุ่งจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากภาคอื่นคือ การนุ่งซิ่นจะนุ่งป้ายหน้าเก็บซ่อนตะเข็บ ยกเว้นกลุ่มไทยเชื้อสายเขมรในอีสานใต้ ซึ่งมักจะทอริมผ้าเป็นริ้วๆ ต่างสีตามแนวตะเข็บซิ่น จนดูกลมกลืนกับตะเข็บและเวลานุ่งจะให้ตะเข็บอยู่ข้างสะโพก







การใช้ผ้าสำหรับสตรีชาวอีสาน

ผ้าซิ่นสำหรับใช้เป็นผ้านุ่งของชาวอีสานนั้นจะมีลักษณะการใช้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

ผ้าซิ่นสำหรับผู้หญิงที่มีสามีแล้ว จะใช้ผ้าสามชิ้นมาต่อกันโดยแบ่งเป็นผ้าหัวซิ่น ผ้าตัวซิ่น และผ้าตีนซิ่น ผ้าแต่ละชิ้นมีขนาดและลวดลายต่างกัน
ผ้าหัวซิ่น จะมีขนาดกว้างประมาณ 20 ซม. ยาวเท่ากับผ้าซิ่น มีลวดลายเฉพาะตัว คือ ทอเป็นลายขวางสลับเส้นไหมแทรกเล็กๆ สลับสีสวยงาม
ส่วนตัวซิ่น คือส่วนกลางของผ้าซิ่นมีความกว้างมากกว่าส่วนอื่น ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเท่าฟืมที่ใช้ทอ ซึ่งนิยมทอเป็นลายมัดหมี่
ส่วนตีนซิ่น คือส่วนล่างของผ้าซิ่นจะมีความกว้างเพียง 10 ซม. และยาวเท่ากับความยาวของผ้าซิ่น เมื่อต่อเข้ากับตัวซิ่นแล้วลายจะเป็นตรงกันข้ามกับผ้าหัวซิ่น ความงามอยู่ที่การสลับสีส่วนใหญ่จะเลียนแบบจากลวดลายของสัตว์ เช่น ลายงูทำเป็นลายปล้องสีเหลืองและดำ
ผ้าซิ่นสำหรับหญิงสาว จะเป็นผ้าซิ่นมัดหมี่เหมือนกันแต่เป็นผืนเดียวกันตลอด ใช้วิธีการมัดหมี่เป็นดอกและลวดลายติดต่อแล้วทอเป็นผืนเดียวกันตลอด ในผืนซิ่นจะมีลายที่ริมขอบด้านล่างในลักษณะเชิงซิ่นลวดลายส่วนใหญ่ทั้งตัวซิ่นและเชิงนิยมใช้ลายรูปสัตว์ เช่น ไก่ฟ้า หงษ์ทอง




ที่มา
www.thainame.net

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ประวิติความเป็นมาของคนอิสาน




บรรพชนคนอีสานและสองฝั่งโขงถึงดินแดนลาวมีหลายชาติพันธุ์ และมีชื่อเรียกตัวเองต่างกันไป เช่น ลาว,เขมร,จาม,ส่วย ฯลฯ

ส่วนพวกที่พูดภาษาลาว มีชื่อเรียกจากชาวสยามยุคกรุงศรีอยุธยาว่า"ไทยน้อย" เป็นพวกหนึ่งที่เคลื่อนย้ายไปตั้งหลักแหล่งทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นเครือญาติพี่น้องกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น มอญ,เขมร,มลายู,จีน ฯลฯ แล้วเรียกตัวเองว่า"คนไทย"



ชุมชนต้นตระกูลไทย-ลาว

1. 5,000 ปีมาแล้ว บรรพชนคนอีสานมีหลักแหล่งถาวรเป็นชุมชนหมู่บ้านกระจายทั่วไปทั้งตอนบนและตอนล่าง(ของเทือกเขาภูพาน) เช่น บริเวณอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น บริเวณอำเภอโนนสูง,อำเภอสูงเนิน,และอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ฯลฯ คนพวกนี้รู้จักปลูกข้าว โดยเฉพาะข้าวเหนียว เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู,วัว ฯลฯ ทำภาชนะดินเผา หล่อโลหะสัมฤทธิ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ มีประเพณีฝังศพ ฯลฯ

2. 4,000 ปีมาแล้ว ชุมชนหมู่บ้านกระจายอยู่ทางต้นน้ำมูล-ชี บริเวณอีสานใต้ แอ่งโคราช เช่น บ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และบริเวณอีสานเหนือ แอ่งสกลนคร เช่น บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ฯลฯ

พบหลักฐานการทำเกษตรกสิกรรม ปลูกและกินข้าวเหนียว ทำภาชนะดินเผา ทอผ้า ต้มเกลือและรู้จักเทคโนโลยี ถลุงโลหะ เช่น สัมฤทธิ์ เหล็ก ฯลฯ หนาแน่นทางทุ่งกุลาร้องไห้ มีระบบความเชื่อคือศาสนาผี นับถือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น งู กบ หมา ฯลฯ มีพิธีทำศพ ใช้แคนเป่าเป็นเสียงสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ยกย่องผู้หญิงเป็นหัวหน้าพิธีกรรมทางศาสนา เช่น หมอผี คนทรง ฯลฯ และเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ มีแบบแผนการปกครองเป็นระเบียบแล้ว

3. 3,000 ปีมาแล้ว มี"คนภายนอก"เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งแห่งหนจนเป็นบรรพชนคนอีสาน มาจากทุกทิศทางทั้งใกล้-ไกล และทั้งทางบก-ทางทะเล "คนภายนอก"บางกลุ่ม หรือหลายกลุ่ม ย่อมเคลื่อนย้ายไปๆ มาๆ ผ่านพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำโขง ที่สำคัญคือมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แถบกวางตุ้ง-กวางสี,เวียดนาม,ยูนนาน ฯลฯ และมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทางอ่าวไทยและอ่าวเบงกอล ฯลฯ





บ้านเมืองแรกสุด

4. หลัง พ.ศ.1 หรือมากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว แรกมีชุมชนบ้านเมืองเป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ ตั้งแต่สมัยแรกมีชื่อสุวรรณภูมิในคัมภีร์ของอินเดีย-ลังกา โดยเฉพาะผืนแผ่นดินใหญ่ที่มีแม่น้ำโขงเป็นแกน

ชุมชนบ้านเมืองในอีสานยุคนี้เลือกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์กลางทำพิธีกรรม เช่น ถ้ำเพิงผา ลานกว้าง ฯลฯ มีหินตั้งปักล้อมรอบเขตศักดิ์สิทธิ์ บางแห่งสลักและเขียนสัญลักษณ์เป็นรูปต่างๆ เช่น คน สัตว์ สิ่งของ พืชพันธุ์ ฯลฯ เช่น ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

5. หลัง พ.ศ.500 ศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดียเข้ามาเผยแผ่อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มแพร่กระจายเข้าไปในดินแดนภายในสุวรรณภูมิบริเวณสองฝั่งโขงและอีสาน ผ่านลุ่มน้ำป่าสัก (ลพบุรี-เพชรบูรณ์) และช่องเขาเพชรบูรณ์ บริเวณต้นน้ำมูล-ชี แล้วกระจายถึงสองฝั่งโขง เหนือสุดถึงเวียงจันและหนองคาย-นครพนม ตะวันออกสุดถึงปลายน้ำมูล-ชี ทางยโสธร-อุบลราชธานี แล้วเริ่มมีชุมชนเมืองขนาดใหญ่ขึ้น

คนพื้นเมืองบริเวณสองฝั่งโขงและอีสาน มีเทคโนโลยีก้าวหน้ากว้างขวาทางถลุงโลหะ โดยเฉพาะเหล็ก และรู้จักขุดคูน้ำล้อมรอบชุมชนแล้ว แต่แต่งกายเปลือยเปล่า มีเพียงเครื่องปิดหุ้มอวัยวะเพศ ประดับประดาร่างกายด้วยใบไม้และขนนก

คนพวกนี้นับถือศาสนาผีอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่ยอมรับนับถือศาสนาพุทธ-พราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ เลยถูกเรียกจากชาวชมพูทวีป (อินเดีย-ลังกา) ว่า "นาค" แล้วเริ่มมีในนิทานว่าต้องปะทะขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มคนเผยแผ่ศาสนาจากชมพูทวีปกับคนพื้นเมือง เรียก "ปราบนาค"

รัฐเจนละ แรกสุดในอีสาน

6. หลัง พ.ศ.1000 แรกมีรัฐเจนละ บริเวณสองฝั่งโขง-ชี-มูล แล้วเติบโตขึ้นจนแผ่ปกลงไปถึงดินแดนกัมพูชาทางทะเลสาบเขมร มีศาสนาพราหมณ์อยู่ในหมู่ ชนชั้นสูง ส่วนศาสนาพุทธอยู่ในหมู่สามัญชน

บริเวณที่เป็นถิ่นกำเนิดของเจนละคือปลายลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานี จัดอยู่ในแอ่งโคราชที่มีชุมชนหมู่บ้านเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว มีประชากรหลากหลายเผ่าพันธุ์ คนพวกนี้มีชุมชนหมู่บ้านหนาแน่นอยู่รอบๆทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นเขตที่มีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหล็ก และเกลือ อุ่นหนาฝาคั่ง

วัฒนธรรมทวารวดี จากที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางเข้าอีสาน ทำให้ดินแดนอีสานเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นบ้านเมืองอย่างเต็มที่เมื่อประมาณหลัง พ.ศ. 1100 เพราะได้รับอารยธรรมจากอินเดียที่แพร่ผ่านบ้านเมืองที่อยู่ใกล้ทะเลเข้ามา 2 ทาง คือ (1) จากบ้านเมืองทางทิศตะวันออก(เวียดนาม) และบริเวณปากแม่น้ำโขงทางทิศใต้(กัมพูชา) และ (2) จากบ้านเมืองบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

พระพุทธศาสนาได้แพร่กระจายไปบริเวณอุดรธานีและหนองหานหลวงที่สกลนครก่อน หลังจากนั้นกลุ่มชนในเขตหนองหานหลวงขยับขยายเข้าไปในเขตอำเภอธาตุพนม (จังหวัดนครพนม) แล้วผสมผสานกับกลุ่มชนต่างเผ่าพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นๆ เช่น ทางเหนือและทางตะวันออกของแม่น้ำโขง ต่อมาได้สร้างพระธาตุพนมขึ้นเป็นศูนย์กลางของระบบความเชื่อ




บ้านเมืองในอีสานไม่ใช่อาณาจักรเดียวกัน แต่แยกกันเป็นแคว้นอิสระหรือรัฐเอกเทศที่มีความสัมพันธ์กันฉันเครือญาติพี่น้องผู้ใหญ่ผู้น้อยอย่างใกล้ชิด และยังไม่พบหลักฐานว่าแคว้นนั้นๆมีชื่ออะไรบ้าง แต่สามารถจำแนกเป็นกลุ่มๆ ดังต่อไปนี้ :

1.กลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง-ชี-มูล หรือเจนละ บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร มุกดาหาร นครพนม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ที่แม่น้ำชี-มูลไหลมารวมกันแล้วลงสู่แม่น้ำโขงที่อุบลราชธานี นับถือพราหมณ์-พุทธ

2.กลุ่มกลางลุ่มแม่น้ำมูล หรือพนมวัน-พิมาย-พนมรุ้ง บริเวณที่ราบลุ่มบางส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์และนครราชสีมา นับถือพุทธมหายาน

3.กลุ่มต้นลุ่มน้ำมูล หรือศรีจนาศะ บริเวณจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่อำเภอเมือง อำเภอปักธงชัยและอำเภอสูงเนิน ไปจดเทือกเขาดงรักและดงพญาเย็นทางตะวันตก นับถือพุทธ-พราหมณ์

4.กลุ่มลุ่มน้ำชี บริเวณจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ เป็นบ้านเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาต่อเนื่องเรื่อยมาสร้างเสมาหิน พระนอน สถูปเจดีย์ ในศิลปะสถาปัตยกรรมแบบทวารวดีอย่างแพร่หลาย

5.กลุ่มสองฝั่งโขงเวียงจัน บริเวณอีสานเหนือ เขตเวียงจัน หนองคาย สกลนคร เป็นบ้านเมืองที่นับถือพุทธศาสนาต่อเนื่องมา มีชื่อในตำนานว่าศรีโคตรบูร มีศูนย์กลางอยู่เวียงจัน ต่อไปข้างหน้าจะเรียกกลุ่มสยาม



"ขอม"เข้าอีสาน

7. หลัง พ.ศ.1500 วัฒนธรรมขอม (เขมร) จากทะเลสาบกัมพูชาแผ่เข้าสู่อีสาน ขณะเดียวกันการค้าโลกกว้างขวางขึ้น ส่งผลให้บริเวณสองฝั่งโขงที่มีทรัพยากร มั่งคั่งมีบ้านเมืองเติบโตแพร่กระจายเต็มไปหมด

ต้นวงศ์กษัตริย์กัมพูชาอยู่ลุ่มน้ำมูล เพราะบริเวณต้นน้ำมูลตั้งแต่เขตปราสาทพนมวัน ปราสาทหินพิมาย ปราสาทเขาพนมรุ้ง เป็นถิ่นเดิมหรือถิ่นบรรพบุรุษเกี่ยวดองเป็น"เครือญาติ"ของกษัตริย์กัมพูชาที่สถาปนาอาณาจักรกัมพูชาขึ้นบริเวณทะเลสาบ ทำให้กษัตริย์อาณาจักรกัมพูชาก่อสร้างปราสาทหินสำคัญไว้ในอีสาน เช่น ปราสาทเขาพระวิหารในกัมพูชา หันหน้าทางอีสานและมีทางบันไดขึ้นลงที่ยื่นยาวเข้ามาทางจังหวัดศรีสะเกษ

รูปสลักขบวนแห่ทหารในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์บนระเบียงประวัติศาสตร์ที่ปราสาทนครวัด แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ฉัน"เครือญาติ"ระหว่างกษัตริย์เขมรเมืองพระนคร กับบ้านเมืองแว่นแคว้นต่างๆ ที่อยู่โดยรอบและที่อยู่ห่างไกลออกไป และยังบอกให้รู้ถึง"เครือข่าย"ทางการค้าภายในบนเส้นทางคมนาคม-การค้าครั้งนั้น เช่น เสียมกุก หรือชาวสยามที่หมายถึงคนพื้นเมืองหลายชาติพันธุ์บริเวณสองฝั่งโขงที่มีเวียงจันเป็นศูนย์กลางของชาวสยาม
ที่สื่อสารด้วยภาษาลาว-ไทย

8. หลัง พ.ศ.1700 บริเวณสองฝั่งโขงและอีสานอยู่ในอิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชของอาณาจักรกัมพูชาที่เรืองอำนาจขึ้นสูงสุด เมื่อราวหลัง พ.ศ. 1700 มีรายชื่อเมืองต่างๆราว 20-30 เมือง (ในจารึกปราสาทพระชรรค์) อยู่รายทางตั้งแต่ทะเลสาบถึงสองฝั่งโขงในอีสานและลาว

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีบรรพชนต้นตระกูลในราชวงศ์มหิธรปุระอยู่บริเวณต้น-กลางลุ่มน้ำมูลทางเมืองพิมาย-พนมรุ้ง แล้วรับศาสนาพุทธมหายานจากเมืองพิมายไปประดิษฐานและเผยแพร่ในราชอาณาจักรกัมพูชาที่เมืองพระนครหลวง (นครธม) ศาสนสถานที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างไว้ตามบ้านเมืองต่างๆ มีรูปแบบอย่างเดียวกันเรียก"อโรคยศาล" และ"ธรรมศาลา" ที่ต่อมาคนอีสานเรียกกู่ฤๅษี



ชาวสยาม และบรรพชน "คนไทย"

9. หลัง พ.ศ.1800 อาณาจักรกัมพูชาที่รุ่งเรืองในแผ่นดินพระเจ้าชัยวรมัน ที่ 7 ร่วงโรยแล้วอ่อนแอลง ทำให้บ้านเมืองต่างๆ บริเวณสองฝั่งโขงในอีสานและลาวแยกออกเป็นรัฐเอกเทศ โดยเฉพาะกลุ่มสยามที่มีศูนย์กลางอยู่เมืองเวียงจัน-หนองคาย แต่บางแห่งรกร้างไป เช่น เขตลุ่มน้ำชี-มูลทางอุบลราชธานีและเขตต่อเนื่อง

บริเวณลุ่มน้ำชีตอนกลางของอีสาน กับตอนปลายลุ่มน้ำมูลทางอุบลราชธานี ร่วงโรยแล้วรกร้างไปตั้งแต่หลัง พ.ศ.1800 เพราะกลุ่มชนดั้งเดิมเคลื่อนย้ายไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า เช่น ไปเป็นประชากรของลุ่มน้ำยม-น่านที่ต่อไปเป็นรัฐสุโขทัย กับไปตั้งหลักแหล่งเป็นประชากรของรัฐละโว้-อโยธยาทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วเป็น"คนไทย"

แต่มีบางพวกลงไปเป็นประชากรทางปากแม่น้ำโขง ในกัมพูชาและเวียดนาม ฯลฯ หรือเข้าไปอยู่ใกล้ฝั่งทะเลทางเวียดนามภาคกลาง เป็นต้น จนถึงหลัง พ.ศ.1900 ก็รกร้างไปเป็นป่าดงพงพี จะมีก็แต่กลุ่มชนร่อนเร่ผ่านไปมา เช่น พวกข่า ฯลฯ ช่วงเวลานี้มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชอาณาจักรขึ้นแล้วทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง

10. หลัง พ.ศ.2000 พวกลาวจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เคลื่อนย้ายหนีความขัดแย้งทางการเมืองมาตั้งหลักแหล่งในอีสาน แล้วก่อบ้านสร้างเมืองขึ้นใหม่ทับซ้อนลงบริเวณบ้านเมืองเก่าที่รกร้างไปแล้ว ขณะเดียวกันทางรัฐลาวแยกเป็น 3 เขต คือ (1) หลวงพระบางเป็นลาวเหนือ (2) เวียงจันเป็นลาวกลาง (3) จำปาสักเป็นลาวใต้

อำนาจของเวียงจันขยายเข้ามาถึงบริเวณลุ่มน้ำชี แต่ทางลุ่มน้ำมูลอยู่ในอำนาจทางการเมืองของรัฐละโว้-อโยธยา มีเมืองนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางที่ไม่อยู่ในวัฒนธรรมลาว แต่อยู่ในวัฒนธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น กินข้าวเจ้า นุ่งโจงกระเบน เล่นเพลงโคราช ฯลฯ

11. หลัง พ.ศ.2300 พระเจ้ากรุงธนบุรี แผ่อำนาจถึงอีสานและเวียงจันรวมสองฝั่งโขง ครั้นสถาปนากรุงเทพฯแล้วราชวงศ์จักรีให้ความสำคัญอีสานและบ้านเมืองสองฝั่งโขง ได้จัดตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่หลายแห่ง แล้วกวาดต้อนผู้คนทั้งลาวและอื่นๆ ลงไปเป็นประชากรกรุงเทพฯ

12. หลัง พ.ศ.2400 ฝรั่งเศสยึดฝั่งขวาแม่น้ำโขงไว้ทั้งหมด แล้วกำหนดเส้นกั้นอาณาเขตมีแม่น้ำโขงเป็นแดนโดยตลอด อีสานถูกผนวกเป็นราชอาณาจักรสยาม แต่คนอีสานเรียกตัวเองว่า"ลาว" ขณะเดียวกันคนกรุงเทพฯก็เรียกคนพื้นเมืองอีสานส่วนมากว่า"ลาว" บางกลุ่มถูกเรียกส่วย แล้วเรียกบริเวณนี้ว่าลาวด้วย เช่น ลาวพวน ต่อมาถูกกำหนดให้เป็นไทยเมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย เมื่อ 24 มิถุนายน 2482



ที่มา
www.wikipedia.org.com